Web Blog การเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ (สาระเพิ่ม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส 22102 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส 23102 ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ในการฝึกทักษะเรียนรู้พื้นฐาน การจัดการความรู้ ทักษะภาษาดิจิตอล ทักษะการรู้คิดประดิษฐ์สร้าง ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่มีประสิทธิผล ทักษะการสืบค้น ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่ทักษะความรู้ที่มุ่งหวังของหลักสูตร โรงเรียนมาตรฐานสากล 6 ประการ ประกอบด้วย (1) ทักษะการเรียนรู้ Learning Skills
(2) ทักษะการคิด Thinking Skills (3) ทักษะการแก้ปัญหา Problerm Skills (4) ทักษะชีวิต Life Skills (5) ทักษะการใช้เทคโนโลยี Technology Skills (6) ทักษะการสื่อสาร Communication Skills ทฤษฎีระบบการเรียน KM (Knowlead Maneagement) โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา(Word Class Standard)

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558



วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558


สัปดาห์ที่ 13 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงธนบุรี

ประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงสมัยธนบุรี

            หลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาวิชาไทยศึกษาปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ตำนาน พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ กฎหมาย ใบบอก วรรณคดี โบราณวัตถุและโบราณสถาน นอกเหนือจากนี้แล้วยังปรากฏในงานด้านศิลปวัฒนธรรมและหลักฐานชั้นที่สอง อาทิ งานเขียนของ W.A.R. Wood เรื่อง “A History of Siam” (๒๔๖๗) งานค้นคว้าของ David K. Wyatt เรื่อง “Thailand a Short History” งานวิจัยของ Charles F. Keyes เรื่อง “Thailand Buddhist Kingdom as Modern Nation-State” (๑๙๘๗) และงานค้นคว้าของ Charles Higham and Ratchanie Thosarat เรื่อง “Prehistoric Thailand: From Early Settlement to Sukhothai ” (๒๕๔๑) เป็นต้น

            สำหรับนักวิชาการชาวไทยนั้น นอกเหนือจากตำราวิชาไทยศึกษาและวิชาประวัติศาสตร์ไทยและอื่นๆของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งรวบรวมจากผลงานการค้นคว้าของนักวิชาการชั้นนำแล้ว ยังมีงานเขียนของนักวิชาการอื่นๆอีกมากมาย อาทิ ผลงานของถนอม อานามวัฒน์และคณะแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร เรื่อง“ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา”(๒๕๒๘) งานเขียนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ บังอร ปิยะพันธ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยการปกครองสังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงพ.ศ.๒๔๗๕“ (๒๕๓๘) และเอกสารคำสอนวิชาไทยศึกษาของโครงการบริหารวิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

            ดินแดนในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่และยุคโลหะ หรือตั้งแต่ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปี -๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ยุคต้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๔ จนถึงสมัยธนบุรี(พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)เท่านั้น

๑.๑ สมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทย

            การก่อตัวของอารยธรรมยุคเริ่มแรกของดินแดนในประเทศไทย เริ่มต้นจากระบบโครงสร้างทางสังคม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระดับครอบครัว หมู่บ้าน จนถึงชุมชนเมือง พัฒนาการของรัฐหรือแว่นแคว้นระยะเริ่มแรกนั้น สมาชิกของชุมชนต่างมีความผูกพันต่อระบบสายใยเครือญาติอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระดับชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนที่ขยายตัวออกมาจากหมู่บ้านเดิมของบรรพบุรุษ ต่างก็ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตนกับหมู่บ้านบรรพบุรุษเช่นกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวรวมไปถึงความผูกพันต่างๆทางสังคมระหว่างวงศ์ตระกูลด้วย

            หน้าที่และความสัมพันธ์ทางเครือญาติจึงเป็นกลไกของพันธะสำคัญที่มีต่อสถานะผู้นำ(chiefdom) เพราะแม้แต่สมาชิกฐานะต่ำต้อยก็ยังสามารถลำดับความสัมพันธ์กับผู้นำได้ โดยผ่านการลำดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่มีมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อชุมชนขยายตัวเป็นสังคมระดับรัฐเต็มตัวแล้ว ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เข้าผสมผสานกับความสัมพันธ์ระบบเครือญาติจึงก่อตัวตามมา กลายเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม [1]

            การแบ่งชนชั้นในสังคม เป็นที่มาของระบบการปกครองตามลำดับชั้น(hierarchy) หากเปรียบโครงสร้างทางสังคมกับสามเหลี่ยมรูปปิรามิดแล้ว ชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำหรือชนชั้นผู้ดี(elite)มีฐานะอยู่บนยอดปิรามิด ส่วนชนชั้นอื่นๆจะมีฐานะลดหลั่นลงมา เมื่อแนวคิดทางการปกครองแบบมีผู้นำสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่และจำนวนประชากรที่มากขึ้น แพร่หลายเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบผู้นำชุมชน จึงต้องอาศัยผู้ชำนาญการด้านต่างๆเข้ามาเสริมโครงสร้างทางการเมือง เงื่อนไขสำคัญของระบบการปกครองดังกล่าว คือ การรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วนำไปบังคับใช้ในภูมิภาครอบๆศูนย์กลางของรัฐ การปกครองระบบนี้ แม้ชนชั้นปกครองและผู้ชำนาญการจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างผลผลิตเบื้องต้นโดยตรง แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จากการหล่อเลี้ยงของระบบภาษีและผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งถูกเรียกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่การรับใช้ชนชั้นปกครอง อาทิ การสร้างที่อยู่หรือเรือนของชนชั้นปกครอง ใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานโดยปราศจากสิ่งตอบแทน

            การรุกรานด้วยกำลังเพื่อขยายอาณาเขตและพื้นที่ทางสังคม และการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชนชั้นปกครองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

๑.๒ พัฒนาการทางสังคม

            ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) และรัชนี ทศรัตน์ เสนอว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าจากอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “แดนทอง(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจากหินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียต้องการนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นในการกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ และทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไปด้วย[2]

            ประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่น ทำให้จีนเพิ่มความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย ขณะนั้นอิทธิพลทางการเมืองของจีนแผ่ลงมาถึงภาคเหนือของลาวและเทือกเขาตรวงซอนทางเหนือของแม่น้ำโขง และแม้ว่าอิทธิพลของจีนจะลดน้อยลงในพื้นที่ถัดจากเทือกเขา ซึ่งจีนเรียกว่า “ปราการแห่งอัมพร (Fortress of the Sky)” แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบจีนและการค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีนก็ยังแทรกซึมผ่านข้ามช่องเขาเข้าไปได้ นักประวัติศาสตร์จีนชื่อปัน จู(Pan Gu) บันทึกเมื่อพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.)ว่า “ขุนนางและพลอาสาถูกส่งออกไปยังทะเล เพื่อนำทองคำและผ้าไหมนานาพรรณไปแลกกับไข่มุกเม็ดงาม ลูกปัดแก้ว และอัญมณี (rare stone)”

            ข้อเสนอที่ระบุว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติยังไม่ใช่ข้อยุติ ก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยอาจมีโครงสร้างทางสังคมในระดับที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบทางสังคมที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่ผู้นำพื้นเมืองสนใจจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน เห็นได้จากการที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพเจ้าของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกใช้สื่อความหมายสูงส่งที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงรูปแบบใหม่แห่งลัทธิการบวงสรวงบูชา ในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ดังกล่าวนี้นำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์ศิลาขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมของการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ ศิลาจารึกที่สรรเสริญคุณงามความดีของเจ้าเหนือหัวซึ่งมีนามเป็นภาษาสันสกฤต เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา[3]

๑.๓ ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘

            การศึกษาร่องรอยอารยธรรมสมัยเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลักฐานจดหมายเหตุจีนซึ่งบันทึกเรื่องราวของรัฐโบราณต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๖เป็นต้นมา[4]

๑.๓.๑ หลักฐานเอกสารโบราณของจีน
            จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นระบุว่าระหว่าง พ.ศ.๕๔๓–๕๔๘ คณะทูตจีนได้เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านเวียดนามและคาบสมุทรมลายู มุ่งสู่อ่าวไทยแล้วขึ้นบกที่คอคอดกระก่อนเดินทางบกต่อไปยังพม่า ผ่านเมืองต่างๆ อาทิ แคว้นตูหยวน แคว้นหลูม่อและแคว้นเฉินหลี นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้อาจอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย[5]

            ในพุทธศตวรรษที่๘ คัง-ไถหรือคัง-ไท่(K’ang-Tai)และจู-ยิงหรือจู-อิ้ง(Chu-Ying)ระบุว่า อาณาจักรฟูนัน(Fou-nan)[6]หรือพนมเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อีกทั้งยังมีเมืองขึ้นจำนวนไม่น้อยในแถบชายทะเลริมฝั่งอ่าวไทยโดยรอบตั้งแต่จันทบุรีในภาคตะวันออก ตลอดถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู เมืองขึ้นเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า แคว้นเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน แคว้นชู-ตู-กุนหรือตู-กุน แคว้นเฉียว-ชิหรือชู-ลี แคว้นปิ-ซุง แคว้นพัน-พัน แคว้นทัน-ทัน แคว้นลัง-ยะ-สิว แคว้นชิ-ถูหรือเซียะ-โท้

            นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของบางแคว้นยังไม่สามารถทำได้ชัดเจน[7] แต่แคว้นโบราณบางแคว้นก็สามารถระบุที่ตั้งของแคว้น อาทิ แคว้นพัน-พัน แคว้นลัง-ยะ-สิวและแคว้นชิ-ถู ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดในการที่จะระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จากการสำรวจศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถานที่เหลือในปัจจุบัน

            พระพุทธทาสภิกขุ(พระครูอินทปัญญาจารย์)ในงานเขียนชื่อ “แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน” เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี มีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวบ้านดอน ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงสระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี[8] แต่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ[9]จังหวัดปราจีนบุรี

            พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “ลัง-ยะ-สิว” อาจตรงกับภาษาพื้นเมืองว่า “นครชัยศรี” และสันนิษฐานว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญในระยะพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕–๑๖ ศูนย์กลางของลัง-ยะ-สิวได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จังหวัดนครปฐม ส่วนแคว้นชิ-ถูนั้นน่าะอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง จากการพบหลักฐานเงินตราโรมันอายุร่วมสมัยกับเอกสารของจีนที่กล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้[10]

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และเสนอว่าที่ตั้งของลัง-ยะ-สิวน่าจะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดปัตตานี โดยระยะหลังแคว้นลัง-ยะ-สิวถูกเรียกว่า “ลัง-เจียง-ซู” หรือ“ลังกาสุกะ”[11] สอดคล้องกับความเห็นของต้วน ลี เซิง ที่เสนอว่าชื่อเมืองต่างๆ อาทิ เมืองจิ้น-หลิน หรือเมืองฉิน-เฉินในเอกสารของคัง-ไท่และจู-อิ้ง[12] ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเมืองเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน เป็นเมืองท่าสำคัญตั้งในลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเมืองชิ-ถู หรือเซียะ-โท้-ก๊กในจดหมายเหตุราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๔ นั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา[13]

๑.๓.๒ แคว้นสำคัญในดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยา
            ในพุทธศตวรรษที่๑๒ การติดต่อค้าขายระหว่างโรมันกับอินเดียสิ้นสุดลงเพราะการหมดอำนาจของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันเองในอินเดีย รวมถึงการล่มสลายของอาณาจักรฟูนันในพุทธศตวรรษที่๑๓ จากการรุกรานของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน ทำให้แคว้นเล็กแคว้นน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอิสระจากการปกครองของฟูนันและสร้างสรรค์บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาแทนที่ [14] ได้แก่ แคว้นทวารวดี แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีวิชัย แคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหริภุญชัย แคว้นละโว้ แคว้นสุโขทัย แคว้นล้านนา แคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นอโยธยา

๑) แคว้นทวารวดี

            หลวงจีนเหี้ยน-จาง หรือเหยียน-จางหรืองซวน-ท้ง หรือพระถังซำจั๋ง เดินทางไปแสวงบุญยังอินเดียทางบกในพุทธศตวรรษที่๑๒ และหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียทางทะเลในพุทธศตวรรษที่๑๓ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง[15] นักบวชทั้งสองรูปกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้

            “แคว้นลัง-ยะ-สิว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ ทางทิศตะวันออกของแคว้นลัง-ยะ-สิว คือแคว้นโต-โล-โป-ตี(To-lo-po-ti) หรือชิ-โห-โป-ตี[16] หรือโฉ-โห-โป-ตี [17] ทางทิศตะวันออกของแคว้นโต-โล-โป-ตี คือแคว้นอี-ซี-นา-โป-โล และแคว้นมอ-โห-เจียม-โปหรือหลิน-ยี่”[18]

            แคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ คือ แคว้นศรีเกษตร ตั้งอยู่ในประเทศพม่า แคว้นอี-ซี-นา-โป-โล คือ แคว้นอีสานปุระ แคว้นมอ-โห-เจียม-โป คือ แคว้นจามปาในประเทศเวียดนาม ส่วนแคว้นโต-โล-โป-ตี หรือชิ-โห-โป-ตี หรือโฉ-โห-โป-ตี มีหลักฐานชัดเจนว่า คือ แคว้นทวารวดี ตั้งอยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทย

            นักวิชาการมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับที่ตั้งของแคว้นทวารวดี วินัย พงศ์ศรีเพียร เห็นว่าแคว้นทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคตะวันตกของดินแดนประเทศไทย น่าจะหมายถึงเมืองนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ ส่วนเมืองลวปุระในจารึกสมัยทวารวดี น่าจะเป็นเมืองลโวทยปุระซึ่งถูกอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาแผ่เข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่๑๖

            หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีซึ่งแพร่กระจายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๖ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีคือ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนแบบคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบวงกลมหรือวงรีหรือแบบสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ เมืองโบราณสมัยทวารวดี ได้แก่ เมืองนครชัยศรี เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองคูเมือง(สิงห์บุรี) เมืองฟ้าแดดสงยาง(กาฬสินธุ์) ฯลฯ

            ความเชื่อทางศาสนาที่แพร่หลายในแคว้นทวารวดีคือพุทธศาสนานิการเถรวาท “หลักฐานสำคัญที่พบ คือ จารึกคาถา “เยธัมมา เหตุปัปภวา” อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาซึ่งปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่านั้น คาถาเยธัมมนาถูกจารึกในที่ต่างๆ อาทิ บนธรรมจักรศิลาและแผ่นอิฐ[19] เป็นต้น

๒) แคว้นศรีวิชัย

            บันทึกของหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียระหว่างพ.ศ.๑๒๑๓–๑๒๑๖ ระบุว่า แคว้นชิ-ลิ-โฟ-ชิ หรือเช-ลิ-โฟ-ชิหรือสัน-โฟ-ชิหรือโฟ-ชิ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานและศูนย์กลางการศึกษาภาษาสันสกฤตเบื้องต้น เมื่อหลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียในปีพ.ศ.๑๒๓๑ จึงได้แวะพำนักเป็นเวลา ๗ ปี และเดินทางกลับไปยังประเทศจีนในปีพ.ศ.๑๒๓๘ [20]

            ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ระบุว่า เช-ลิ-โฟ-ชิ หมายถึง อาณาจักรศรีวิชัย แต่นักวิชาการก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในพื้นที่อำเภอไชยา (สุราษฎร์ธานี)หรืออยู่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย

            ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๖ ปรากฏหลักฐานการเผยแผ่อิทธิพลศาสนาของพุทธศาสนานิกายมหายานจากนาลันทาแพร่เข้ามายังอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้แคว้นศรีวิชัยในคาบสมุทรมลายูยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับอาณาจักรในเกาะชวาภาคกลางของอินโดนีเซียด้วย บันทึกของเจาจูกัวกล่าวว่าศรีวิชัยกลับมามีความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. ๑๔๔๘ และจีนเรียกศรีวิชัยว่า “ซาน-โฟ-ชิ” หรือสามวิชัย เมืองขึ้นสำคัญของศรีวิชัยสามเมืองคือ ตัน-หม่า-หลิง หลั่ง-ยะ-สิเจียและโฟ-ลู-อัน แคว้นศรีวิชัยหมดอำนาจลงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖ เมื่อถูกโจมตีจากพวกโจฬะหรือทมิฬจากอินเดียตอนใต้

            พิเศษ เจียจันทร์พงศ์เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันนักวิชาการจึงเพียงแต่เสนอสมมติฐานว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางของราชธานีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามเมืองท่าสำคัญๆระหว่างคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยและเกาะสุมาตรา