วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558
สัปดาห์ที่ 13 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงธนบุรี
ประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงสมัยธนบุรี
หลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาวิชาไทยศึกษาปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ตำนาน พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ กฎหมาย ใบบอก วรรณคดี โบราณวัตถุและโบราณสถาน นอกเหนือจากนี้แล้วยังปรากฏในงานด้านศิลปวัฒนธรรมและหลักฐานชั้นที่สอง อาทิ งานเขียนของ W.A.R. Wood เรื่อง “A History of Siam” (๒๔๖๗) งานค้นคว้าของ David K. Wyatt เรื่อง “Thailand a Short History” งานวิจัยของ Charles F. Keyes เรื่อง “Thailand Buddhist Kingdom as Modern Nation-State” (๑๙๘๗) และงานค้นคว้าของ Charles Higham and Ratchanie Thosarat เรื่อง “Prehistoric Thailand: From Early Settlement to Sukhothai ” (๒๕๔๑) เป็นต้น
สำหรับนักวิชาการชาวไทยนั้น นอกเหนือจากตำราวิชาไทยศึกษาและวิชาประวัติศาสตร์ไทยและอื่นๆของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งรวบรวมจากผลงานการค้นคว้าของนักวิชาการชั้นนำแล้ว ยังมีงานเขียนของนักวิชาการอื่นๆอีกมากมาย อาทิ ผลงานของถนอม อานามวัฒน์และคณะแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร เรื่อง“ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา”(๒๕๒๘) งานเขียนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ บังอร ปิยะพันธ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยการปกครองสังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงพ.ศ.๒๔๗๕“ (๒๕๓๘) และเอกสารคำสอนวิชาไทยศึกษาของโครงการบริหารวิชาบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ดินแดนในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่และยุคโลหะ หรือตั้งแต่ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปี -๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ยุคต้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๔ จนถึงสมัยธนบุรี(พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)เท่านั้น
๑.๑ สมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทย
การก่อตัวของอารยธรรมยุคเริ่มแรกของดินแดนในประเทศไทย เริ่มต้นจากระบบโครงสร้างทางสังคม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระดับครอบครัว หมู่บ้าน จนถึงชุมชนเมือง พัฒนาการของรัฐหรือแว่นแคว้นระยะเริ่มแรกนั้น สมาชิกของชุมชนต่างมีความผูกพันต่อระบบสายใยเครือญาติอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระดับชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนที่ขยายตัวออกมาจากหมู่บ้านเดิมของบรรพบุรุษ ต่างก็ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตนกับหมู่บ้านบรรพบุรุษเช่นกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวรวมไปถึงความผูกพันต่างๆทางสังคมระหว่างวงศ์ตระกูลด้วย
หน้าที่และความสัมพันธ์ทางเครือญาติจึงเป็นกลไกของพันธะสำคัญที่มีต่อสถานะผู้นำ(chiefdom) เพราะแม้แต่สมาชิกฐานะต่ำต้อยก็ยังสามารถลำดับความสัมพันธ์กับผู้นำได้ โดยผ่านการลำดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่มีมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อชุมชนขยายตัวเป็นสังคมระดับรัฐเต็มตัวแล้ว ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เข้าผสมผสานกับความสัมพันธ์ระบบเครือญาติจึงก่อตัวตามมา กลายเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม [1]
การแบ่งชนชั้นในสังคม เป็นที่มาของระบบการปกครองตามลำดับชั้น(hierarchy) หากเปรียบโครงสร้างทางสังคมกับสามเหลี่ยมรูปปิรามิดแล้ว ชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำหรือชนชั้นผู้ดี(elite)มีฐานะอยู่บนยอดปิรามิด ส่วนชนชั้นอื่นๆจะมีฐานะลดหลั่นลงมา เมื่อแนวคิดทางการปกครองแบบมีผู้นำสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่และจำนวนประชากรที่มากขึ้น แพร่หลายเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบผู้นำชุมชน จึงต้องอาศัยผู้ชำนาญการด้านต่างๆเข้ามาเสริมโครงสร้างทางการเมือง เงื่อนไขสำคัญของระบบการปกครองดังกล่าว คือ การรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วนำไปบังคับใช้ในภูมิภาครอบๆศูนย์กลางของรัฐ การปกครองระบบนี้ แม้ชนชั้นปกครองและผู้ชำนาญการจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างผลผลิตเบื้องต้นโดยตรง แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จากการหล่อเลี้ยงของระบบภาษีและผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งถูกเรียกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่การรับใช้ชนชั้นปกครอง อาทิ การสร้างที่อยู่หรือเรือนของชนชั้นปกครอง ใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานโดยปราศจากสิ่งตอบแทน
การรุกรานด้วยกำลังเพื่อขยายอาณาเขตและพื้นที่ทางสังคม และการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชนชั้นปกครองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
๑.๒ พัฒนาการทางสังคม
ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) และรัชนี ทศรัตน์ เสนอว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าจากอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “แดนทอง(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจากหินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียต้องการนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นในการกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ และทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไปด้วย[2]
ประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่น ทำให้จีนเพิ่มความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย ขณะนั้นอิทธิพลทางการเมืองของจีนแผ่ลงมาถึงภาคเหนือของลาวและเทือกเขาตรวงซอนทางเหนือของแม่น้ำโขง และแม้ว่าอิทธิพลของจีนจะลดน้อยลงในพื้นที่ถัดจากเทือกเขา ซึ่งจีนเรียกว่า “ปราการแห่งอัมพร (Fortress of the Sky)” แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบจีนและการค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีนก็ยังแทรกซึมผ่านข้ามช่องเขาเข้าไปได้ นักประวัติศาสตร์จีนชื่อปัน จู(Pan Gu) บันทึกเมื่อพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.)ว่า “ขุนนางและพลอาสาถูกส่งออกไปยังทะเล เพื่อนำทองคำและผ้าไหมนานาพรรณไปแลกกับไข่มุกเม็ดงาม ลูกปัดแก้ว และอัญมณี (rare stone)”
ข้อเสนอที่ระบุว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติยังไม่ใช่ข้อยุติ ก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยอาจมีโครงสร้างทางสังคมในระดับที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบทางสังคมที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่ผู้นำพื้นเมืองสนใจจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน เห็นได้จากการที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพเจ้าของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกใช้สื่อความหมายสูงส่งที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงรูปแบบใหม่แห่งลัทธิการบวงสรวงบูชา ในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ดังกล่าวนี้นำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์ศิลาขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมของการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ ศิลาจารึกที่สรรเสริญคุณงามความดีของเจ้าเหนือหัวซึ่งมีนามเป็นภาษาสันสกฤต เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา[3]
๑.๓ ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘
การศึกษาร่องรอยอารยธรรมสมัยเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลักฐานจดหมายเหตุจีนซึ่งบันทึกเรื่องราวของรัฐโบราณต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๖เป็นต้นมา[4]
๑.๓.๑ หลักฐานเอกสารโบราณของจีน
จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นระบุว่าระหว่าง พ.ศ.๕๔๓–๕๔๘ คณะทูตจีนได้เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านเวียดนามและคาบสมุทรมลายู มุ่งสู่อ่าวไทยแล้วขึ้นบกที่คอคอดกระก่อนเดินทางบกต่อไปยังพม่า ผ่านเมืองต่างๆ อาทิ แคว้นตูหยวน แคว้นหลูม่อและแคว้นเฉินหลี นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้อาจอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย[5]
ในพุทธศตวรรษที่๘ คัง-ไถหรือคัง-ไท่(K’ang-Tai)และจู-ยิงหรือจู-อิ้ง(Chu-Ying)ระบุว่า อาณาจักรฟูนัน(Fou-nan)[6]หรือพนมเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อีกทั้งยังมีเมืองขึ้นจำนวนไม่น้อยในแถบชายทะเลริมฝั่งอ่าวไทยโดยรอบตั้งแต่จันทบุรีในภาคตะวันออก ตลอดถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู เมืองขึ้นเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า แคว้นเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน แคว้นชู-ตู-กุนหรือตู-กุน แคว้นเฉียว-ชิหรือชู-ลี แคว้นปิ-ซุง แคว้นพัน-พัน แคว้นทัน-ทัน แคว้นลัง-ยะ-สิว แคว้นชิ-ถูหรือเซียะ-โท้
นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของบางแคว้นยังไม่สามารถทำได้ชัดเจน[7] แต่แคว้นโบราณบางแคว้นก็สามารถระบุที่ตั้งของแคว้น อาทิ แคว้นพัน-พัน แคว้นลัง-ยะ-สิวและแคว้นชิ-ถู ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดในการที่จะระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จากการสำรวจศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถานที่เหลือในปัจจุบัน
พระพุทธทาสภิกขุ(พระครูอินทปัญญาจารย์)ในงานเขียนชื่อ “แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน” เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี มีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวบ้านดอน ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงสระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี[8] แต่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ[9]จังหวัดปราจีนบุรี
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “ลัง-ยะ-สิว” อาจตรงกับภาษาพื้นเมืองว่า “นครชัยศรี” และสันนิษฐานว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญในระยะพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕–๑๖ ศูนย์กลางของลัง-ยะ-สิวได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จังหวัดนครปฐม ส่วนแคว้นชิ-ถูนั้นน่าะอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง จากการพบหลักฐานเงินตราโรมันอายุร่วมสมัยกับเอกสารของจีนที่กล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้[10]
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และเสนอว่าที่ตั้งของลัง-ยะ-สิวน่าจะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดปัตตานี โดยระยะหลังแคว้นลัง-ยะ-สิวถูกเรียกว่า “ลัง-เจียง-ซู” หรือ“ลังกาสุกะ”[11] สอดคล้องกับความเห็นของต้วน ลี เซิง ที่เสนอว่าชื่อเมืองต่างๆ อาทิ เมืองจิ้น-หลิน หรือเมืองฉิน-เฉินในเอกสารของคัง-ไท่และจู-อิ้ง[12] ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเมืองเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน เป็นเมืองท่าสำคัญตั้งในลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเมืองชิ-ถู หรือเซียะ-โท้-ก๊กในจดหมายเหตุราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๔ นั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา[13]
๑.๓.๒ แคว้นสำคัญในดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยา
ในพุทธศตวรรษที่๑๒ การติดต่อค้าขายระหว่างโรมันกับอินเดียสิ้นสุดลงเพราะการหมดอำนาจของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันเองในอินเดีย รวมถึงการล่มสลายของอาณาจักรฟูนันในพุทธศตวรรษที่๑๓ จากการรุกรานของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน ทำให้แคว้นเล็กแคว้นน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอิสระจากการปกครองของฟูนันและสร้างสรรค์บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาแทนที่ [14] ได้แก่ แคว้นทวารวดี แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีวิชัย แคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหริภุญชัย แคว้นละโว้ แคว้นสุโขทัย แคว้นล้านนา แคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นอโยธยา
๑) แคว้นทวารวดี
หลวงจีนเหี้ยน-จาง หรือเหยียน-จางหรืองซวน-ท้ง หรือพระถังซำจั๋ง เดินทางไปแสวงบุญยังอินเดียทางบกในพุทธศตวรรษที่๑๒ และหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียทางทะเลในพุทธศตวรรษที่๑๓ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง[15] นักบวชทั้งสองรูปกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้
“แคว้นลัง-ยะ-สิว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ ทางทิศตะวันออกของแคว้นลัง-ยะ-สิว คือแคว้นโต-โล-โป-ตี(To-lo-po-ti) หรือชิ-โห-โป-ตี[16] หรือโฉ-โห-โป-ตี [17] ทางทิศตะวันออกของแคว้นโต-โล-โป-ตี คือแคว้นอี-ซี-นา-โป-โล และแคว้นมอ-โห-เจียม-โปหรือหลิน-ยี่”[18]
แคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ คือ แคว้นศรีเกษตร ตั้งอยู่ในประเทศพม่า แคว้นอี-ซี-นา-โป-โล คือ แคว้นอีสานปุระ แคว้นมอ-โห-เจียม-โป คือ แคว้นจามปาในประเทศเวียดนาม ส่วนแคว้นโต-โล-โป-ตี หรือชิ-โห-โป-ตี หรือโฉ-โห-โป-ตี มีหลักฐานชัดเจนว่า คือ แคว้นทวารวดี ตั้งอยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทย
นักวิชาการมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับที่ตั้งของแคว้นทวารวดี วินัย พงศ์ศรีเพียร เห็นว่าแคว้นทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคตะวันตกของดินแดนประเทศไทย น่าจะหมายถึงเมืองนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ ส่วนเมืองลวปุระในจารึกสมัยทวารวดี น่าจะเป็นเมืองลโวทยปุระซึ่งถูกอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาแผ่เข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่๑๖
หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีซึ่งแพร่กระจายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๖ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีคือ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนแบบคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบวงกลมหรือวงรีหรือแบบสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ เมืองโบราณสมัยทวารวดี ได้แก่ เมืองนครชัยศรี เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองคูเมือง(สิงห์บุรี) เมืองฟ้าแดดสงยาง(กาฬสินธุ์) ฯลฯ
ความเชื่อทางศาสนาที่แพร่หลายในแคว้นทวารวดีคือพุทธศาสนานิการเถรวาท “หลักฐานสำคัญที่พบ คือ จารึกคาถา “เยธัมมา เหตุปัปภวา” อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาซึ่งปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่านั้น คาถาเยธัมมนาถูกจารึกในที่ต่างๆ อาทิ บนธรรมจักรศิลาและแผ่นอิฐ[19] เป็นต้น
๒) แคว้นศรีวิชัย
บันทึกของหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียระหว่างพ.ศ.๑๒๑๓–๑๒๑๖ ระบุว่า แคว้นชิ-ลิ-โฟ-ชิ หรือเช-ลิ-โฟ-ชิหรือสัน-โฟ-ชิหรือโฟ-ชิ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานและศูนย์กลางการศึกษาภาษาสันสกฤตเบื้องต้น เมื่อหลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียในปีพ.ศ.๑๒๓๑ จึงได้แวะพำนักเป็นเวลา ๗ ปี และเดินทางกลับไปยังประเทศจีนในปีพ.ศ.๑๒๓๘ [20]
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ระบุว่า เช-ลิ-โฟ-ชิ หมายถึง อาณาจักรศรีวิชัย แต่นักวิชาการก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในพื้นที่อำเภอไชยา (สุราษฎร์ธานี)หรืออยู่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย
ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๖ ปรากฏหลักฐานการเผยแผ่อิทธิพลศาสนาของพุทธศาสนานิกายมหายานจากนาลันทาแพร่เข้ามายังอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้แคว้นศรีวิชัยในคาบสมุทรมลายูยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับอาณาจักรในเกาะชวาภาคกลางของอินโดนีเซียด้วย บันทึกของเจาจูกัวกล่าวว่าศรีวิชัยกลับมามีความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. ๑๔๔๘ และจีนเรียกศรีวิชัยว่า “ซาน-โฟ-ชิ” หรือสามวิชัย เมืองขึ้นสำคัญของศรีวิชัยสามเมืองคือ ตัน-หม่า-หลิง หลั่ง-ยะ-สิเจียและโฟ-ลู-อัน แคว้นศรีวิชัยหมดอำนาจลงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖ เมื่อถูกโจมตีจากพวกโจฬะหรือทมิฬจากอินเดียตอนใต้
พิเศษ เจียจันทร์พงศ์เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันนักวิชาการจึงเพียงแต่เสนอสมมติฐานว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางของราชธานีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามเมืองท่าสำคัญๆระหว่างคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยและเกาะสุมาตรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น